รู้ทันมิจฉาชีพ! แฉวิธีหลอกเงิน พร้อมวิธีป้องกัน และให้คำแนะนำวิธีรับมือ

สิงหาคม 67
รู้ทันมิจฉาชีพ! แฉวิธีหลอกเงิน พร้อมวิธีป้องกัน และให้คำแนะนำวิธีรับมือ

มิจฉาชีพ คืออาชีพที่ผิดกฎหมาย มีรูปแบบการหลอกที่ถูกปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ซึ่งถ้าย้อนไปในอดีตจะมีตั้งแต่จดหมายลูกโซ่ แชร์ลูกโซ่ โทรมาหลอกว่าได้รับรางวัลหรือได้มรดก หลอกให้ไปเข้าร่วมเครือข่ายขายตรง ชวนลงทุน ชวนเทรดทอง เทรดหุ้น และอ้างว่าได้ผลตอบแทนที่ดี หรือหลอกให้รักให้ผูกพันจนสุดท้ายให้โอนเงินให้ ทั้งหมดนี้คือการหลอกที่เคยมีมาแล้ว และบางวิธีก็ยังมีอยู่จนถึงปัจจุบัน แต่วิธีการก็จะเปลี่ยนไปเพื่อให้แนบเนียนมากยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือหลอกให้โอนเงิน
วันนี้เราจะพาเพื่อนๆ ไปรู้เท่าทันมุกของมิจฉาชีพพวกนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ หรือใครที่พลาดเข้าแล้ว เราก็จะพาไปดูวิธีดำเนินการทางกฎหมายต่อไป
 


หลอกให้โอนเงิน

Photo1-(3).jpg

การหลอกรูปแบบนี้จะพบได้เยอะที่สุด มีทั้ง “ติดต่อจากธนาคารxxx คุณมียอดบัตรเครดิตค้างชำระ”, “ติดต่อจากxxx คุณได้รับรางวัลใหญ่ รบกวนดำเนินการจ่ายค่าภาษีก่อนเพื่อรับของรางวัล”, “ติดต่อจากขนส่ง คุณมีพัสดุตกค้าง”, “จำเราได้มั้ย? เราคือxxxไง ที่เคยเรียนด้วยกัน มาซื้อของแบตฯหมดโอนเงินไม่ได้ ขอยืมเงินหน่อยเดี๋ยวมีแบตคืนเลย”, “ติดต่อจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คุณมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีฟอกเงิน” และวิธีการล่าสุดคือหลอกให้เราโอนเงินไปแล้ว 1 รอบ แล้วสวมรอยเป็นตำรวจที่จะมาช่วยคดีอีก 1 ครั้ง เพื่อให้เราโอนเงินเพิ่มไปอีก ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะหลอกให้เราโอนเงินด้วยวิธีการต่างๆ มีทั้งให้โอนตามยอดที่แจ้ง หรือถึงขั้นให้โอนไปทั้งหมดในบัญชีโดยอ้างว่าจะนำไปตรวจสอบ มีเคสตัวอย่างดังนี้
https://www.one31.net/news/detail/70367, https://www.thairath.co.th/news/crime/2794555

วิธีป้องกันมิจฉาชีพหลอกให้โอนเงิน
  • ตั้งสติ ระวัง สังเกต และอย่าหลงเชื่อใครง่ายๆ (ถ้าเป็นการหลอกให้รัก แนะนำให้ตรวจสอบถึงตัวตนจริงของบุคคลนั้นโดยใช้วิธีการสืบค้นรูปภาพบนกูเกิลอิมเมจ https://images.google.com หากพบว่ารูปโปรไฟล์ที่ใช้เป็นรูปของบุคคลอื่นสามารถสันนิษฐานได้ว่าเป็นมิจฉาชีพ)
  • ห้ามให้ข้อมูลส่วนตัว หรือข้อมูลทางการเงิน แม้กระทั่งรหัส OTP เพื่อป้องการการนำข้อมูลไปใช้ทำธุรกรรม
  • ปรึกษาพูดคุยกับคนในครอบครัว เพื่อจะช่วยกันเป็นหูเป็นตาให้
  • จำกัดวงเงินการเบิกถอนต่อวันเพื่อลดความเสี่ยง

สามารถตรวจสอบรายชื่อ รวมถึงเลขที่บัญชีของผู้ค้าออนไลน์ เพื่อเช็กประวัติว่าเคยมีการฉ้อโกงหรือไม่ ได้ที่ https://www.blacklistseller.com/


หลอกให้กดลิ้งก์

Photo3-(3).jpg

มีทั้งการส่ง sms, Line, Messenger โดยทุกช่องทางจะมีการแนบลิ้งก์ให้เรากดเข้าไปเพื่อดูดเงินในบัญชีของเรา และวิธีการใหม่ล่าสุดคือการส่ง sms มาด่าเรา อ้างว่าเราไปเที่ยวกับคนที่ไม่ใช่แฟน พร้อมแนบลิ้งก์ให้กดเข้าไปดูรูป แต่จริงๆแล้วมันคือการที่ต้องการคลิกลิ้งก์เพื่อที่จะติดตั้งแอปพลิเคชันดูดเงินจากบัญชีของเรา

วิธีป้องกันมิจฉาชีพหลอกให้กดลิ้งก์ติดตั้งแอปดูดเงิน
  • ห้ามคลิกลิ้งก์ต่างๆ ที่ส่งมาในทุกช่องทางโดยเด็ดขาด!


หลอกลงทุน

การหลอกลงทุนเกิดขึ้นในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน มีทั้งแบบแชร์ลูกโซ่ หลอกให้ไปเข้าร่วมเครือข่ายขายตรง หรือจับสินค้าที่เป็นกระแสและหลอกให้มาพรีออเดอร์สินค้าไปขายต่อ อย่างกรณีล่าสุดที่มีการหลอกพรีออเดอร์ Art Toys โดยกลลวงของมิจฉาชีพพวกนี้คือจะส่งของในล็อตแรกก่อน เพื่อสร้างความเชื่อใจกับลูกค้า พอเราเห็นว่าล็อตแรกได้ของจริง แม่ค้าก็จะลงเงินมากขึ้น เพราะช่องว่างของสินค้าประเภทนี้คือการรอสินค้านาน แม่ค้าก็ไม่อยากเสียโอกาสทำกำไรในช่วงที่กำลังมีกระแส จึงมักจะสั่งของทีเดียวในจำนวนเงินที่มาก อย่างที่เป็นข่าว https://mgronline.com/crime/detail/9670000049775

หรือในกรณีการหลอกลงทุนที่แนบเนียนขึ้นมากอีกขั้น คือการชวนเทรดทอง หรือการลงทุนในหุ้น โดยแอบอ้างผู้ที่มีชื่อเสียงในวงการอย่าง ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร หรือคุณกวี ชูกิจเกษม ที่ล้วนเป็นนักลงทุนแบบ VI (Value Investment หรือการลงทุนแบบเน้นคุณค่า) ชื่อดังของไทย เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เราอยากจะประสบความสำเร็จในการลงทุนแบบบุคคลเหล่านี้ โดยรูปแบบการหลอกคือ ใช้ AI เข้ามาเพื่อสร้างความแนบเนียน อย่างเช่นโปรแกรม Deepfake เพื่อทำให้ภาพใบหน้าและเสียงของผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนแนบเนียนขึ้น และยิงโฆษณาไปตามกลุ้มเป้าหมานผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก เพื่อชวนนักลงทุนแอดเข้ากรุ๊ปไลน์ เพื่อให้คำแนะนำด้านการลงทุน และหลอกเงินจากผู้ที่หลงเชื่อ อย่างที่เป็นข่าว https://www.bangkokbiznews.com/finance/stock/1116067
 

 

วิธีป้องกันมิจฉาชีพหลอกให้ลงทุน

  • ตั้งสติ ระวัง สังเกต และอย่าหลงเชื่อใครง่ายๆ
  • หาข้อมูลให้ดีก่อนลงทุน เช่น การหาข้อมูลว่าผู้มีชื่อเสียงท่านนั้นมีเฟซบุ๊กจริงๆมั้ย? หรือ ผู้มีชื่อเสียงท่านนั้นอยู่ บริษัทหลักทรัพย์อะไร และให้ตั้งข้อสงสัยก่อนว่าบุคคลเหล่านี้จะมาสอนเราลงทุนผ่านไลน์ได้จริงๆใช่มั้ย? หรือสอบถามไปยังบริษัทหลักทรัพย์ที่ผู้มีชื่อเสียงท่านนั้นทำงานอยู่
 

Photo4-(3).jpg


หากโดนหลอกเข้าแล้ว ควรทำยังไงต่อ?
  • เตรียมบัตรประจำตัวประชาชนเพื่อเป็นการแสดงตัวตนของผู้เสียหาย
  • ให้เก็บหลักฐานการโอนเงิน และเก็บภาพข้อความการพูดคุยกับคนร้ายผ่านช่องทางต่าง ๆ เก็บชื่อบัญชี ภาพโปรไฟล์ และข้อมูลของคนร้ายไว้ให้มากที่สุด เพื่อเป็นหลักฐานในการแจ้งความ
  • โดยสามารถแจ้งความได้ที่
    • แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่เกิดเหตุ เพื่อลงบันทึกและออกเอกสารสำหรับประสานงานต่อไปยังสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องต่อไป
    • แจ้งความออนไลน์ที่เว็บไซต์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ https://www.thaipoliceonline.com (สามารถแจ้งความออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง)
    • โทร 1441 แจ้งกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) หรือ โทร 1599 สายด่วน ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

📌ช่องทางติดต่อสำหรับสมาชิกบัตรเครดิต เซ็นทรัล เดอะวัน อย่างเป็นทางการ มีดังนี้
  • ติดต่อศูนย์บริการสมาชิกบัตรเครดิต เซ็นทรัล เดอะวัน  เปิดทำการทุกวัน ตลอด 24 ชม.
    💳บัตรเครดิต เซ็นทรัล เดอะวัน เรดซ์ เบอร์โทรศัพท์ 02 627 8111
    💳บัตรเครดิต เซ็นทรัล เดอะวัน ลักซ์ เบอร์โทรศัพท์ 02 627 8899
  • ติดต่อผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ
  • 📱 https://linktr.ee/CentralThe1CreditCard
  • ติดต่อผ่านแอป UCHOOSE 
  • 📍ติดต่อผ่านจุดบริการบัตรเครดิต เซ็นทรัล เดอะวัน ที่ห้างเซ็นทรัลได้ทุกสาขา

Credit : https://shorturl.at/5FKoc, https://shorturl.at/BDTEz



TAGS : บัตรเครดิต เซ็นทรัล เดอะวัน, โปรโมชั่นท่องเที่ยว

บทความยอดนิยม


Mastercard The 1 Central_Group_Logo-227x35.png